เบื้องหลัง ของ การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2564

การยื่นญัตติขอเปิดการอภิปราย

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้แถลงถึงภารกิจหลักของฝ่ายค้านในสมัยประชุมสามัญว่าจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีข้อมูลที่จะอภิปรายคือเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส รวมถึงเรื่องถุงมือยางขององค์การคลังซึ่งเกี่ยวข้องกับนักการเมืองหลายคน[3] จากนั้นในวันที่ 15 ธันวาคม ปีเดียวกัน สุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้เปิดเผยอีกว่า พรรคฝ่ายค้านได้รวบรวมข้อมูลและประเด็นน่าสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล และสรุปหาประเด็นที่เข้าเกณฑ์ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาเพิ่มเติม[4] ต่อมาเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564 ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ก็ได้เปิดเผยว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านตกลงยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 27 มกราคม และต้องการให้ฝ่ายค้านได้ใช้เวลาอภิปรายอย่างเต็มที่[5] แต่แล้วเมื่อวันที่ 25 มกราคม สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้านอีก 6 พรรค ได้ยื่นญัตติขออภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 10 คน (จากพรรคพลังประชารัฐ 3 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน และอิสระอีก 3 คน) ประกอบด้วย

รายชื่อรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย
ลำดับที่ชื่อ / ตำแหน่งประเด็นการอภิปราย[1]
1พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
  • บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง
  • มีพฤติการณ์ฉ้อฉล ทุจริต ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตเพื่อสร้างความร่ำรวย มั่งคั่งให้กับตนเองและพวกพ้อง
  • ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง
  • ล้มเหลวในการบริหารสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
  • ไม่มีความรอบคอบ ระมัดระวังในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ไม่รักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ
  • สร้างความแตกแยกในสังคม ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์และทำลายผู้เห็นต่าง
  • ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและสื่อมวลชน
  • ไม่ยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำลายและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย
  • แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม การบริหารราชการแผ่นดิน
2พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
รองนายกรัฐมนตรี
  • ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล
  • ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้กับตนเอง
  • ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
3อนุทิน ชาญวีรกูล
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
  • บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง
  • ล้มเหลวในการควบคุมการระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย จนส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดซ้ำอีกครั้งเป็นรอบที่สอง
  • ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง
4จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  • บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง
  • แต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ เข้ามาเพียงเพื่อแสวงหาประโยชน์
  • ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง
5พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ เพื่อตนเองและพวกพ้อง
  • ปล่อยปละละเลยให้องค์กรในกำกับมีการทุจริตอย่างกว้างขวาง
6ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
  • ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง
  • ใช้อำนาจแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ
  • ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตอย่างกว้างขวาง
7สุชาติ ชมกลิ่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
  • บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง
  • ปล่อยปละละเลยให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้ใช้แรงงาน
  • ไม่กำกับควบคุมผู้ใช้แรงงานต่างด้าวให้เป็นระบบ
  • ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ เพื่อตนเองและพวกพ้อง
8ศักดิ์สยาม ชิดชอบ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
  • บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง
  • เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนผูกขาดในการดำเนินกิจการของรัฐ
  • ปล่อยปละละเลยให้องค์กรในกำกับมีการทุจริตอย่างกว้างขวาง
  • ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง
9นิพนธ์ บุญญามณี
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
  • ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง
  • ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ เพื่อตนเองและพวกพ้อง
10ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องร้ายแรง
  • ไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เปิดเผย ปกปิดการกระทำความผิดของตนเองและพวกพ้อง
  • ใช้งบประมาณของรัฐเพื่อสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งให้กับตนเองและพวกพ้อง
  • ไม่มีความรอบคอบ ระมัดระวังในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ไม่รักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ
  • ปกปิดข้อมูลความจริงในการยื่นหรือการแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
  • ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
  • ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล
  • เสนอให้มีการแต่งตั้งคู่สมรสที่อยู่กินฉันสามีภรรยาเป็นข้าราชการการเมือง โดยไม่คำนึงถึงวุฒิภาวะและความเหมาะสม

การเตรียมการ

วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2564 ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายค้าน และตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันถึงแนวทางการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในเบื้องต้น โดยให้เปิดอภิปรายระหว่างวันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ และลงมติวันที่ 20 กุมภาพันธ์[6] จากนั้นในวันที่ 29 มกราคม ชวนก็ได้บรรจุญัตติไว้ในระเบียบการประชุม ก่อนจะประสานงานไปยังคณะรัฐมนตรีให้กำหนดวันอภิปราย ซึ่งก็ได้ข้อสรุปให้อภิปรายตามที่สภาสรุปไว้ก่อนหน้า[2] ซึ่งก่อนหน้านี้ ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาคนที่ 2 ได้ตรวจสอบญัตติแล้วพบถ้อยคำที่น่าจะทบทวน แต่ฝ่ายค้านตัดสินใจคงญัตติไว้อย่างเดิมทั้งหมด[7]

ผู้อภิปราย

ในการอภิปรายครั้งนี้ วิปฝ่ายค้านได้เปิดเผยสัดส่วนการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคต่าง ๆ ออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ โดยยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จะมี ส.ส. อภิปรายทั้งหมด 38 คน แบ่งเป็นพรรคเพื่อไทย 15 คน, พรรคก้าวไกล 13 คน และพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่น ๆ พรรคละ 1 คน โดย ส.ส. 1 คน สามารถอภิปรายรัฐมนตรีได้ทุกคน แต่จะอภิปรายรัฐมนตรีให้จบเป็นรายบุคคล[8]

ส่วนวิปรัฐบาลก็ได้จัดเตรียมผู้ประท้วงไว้จำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน เนื่องจากในญัตติของฝ่ายค้านมีเนื้อหาบางส่วนที่พาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยขู่ว่าจะดำเนินคดีอาญาฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย และพรรคพลังประชารัฐได้มอบหมายให้ ส.ส. ค้นหาข้อมูลสนับสนุนผลงานของรัฐบาลในเรื่องที่ถูกอภิปรายด้วย[9]

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีไทย พ.ศ. 2564 https://mgronline.com/politics/detail/964000001660... https://www.sanook.com/news/8351474/ https://www.komchadluek.net/news/politic/458294 https://www.prachachat.net/politics/news-553412 https://www.prachachat.net/politics/news-600752 https://www.prachachat.net/politics/news-603892 https://www.prachachat.net/prachachat-hilight/news... https://www.dailynews.co.th/politics/817276 https://www.dailynews.co.th/politics/822825 https://www.khaosod.co.th/politics/news_5985552